Home | About us | บริการถ่ายภาพ | ห้องภาพ | บทความ | เว็บบอร์ด | เช็คราคากล้อง-เลนส์ | โหราพยากรณ์ | Links  
       
 

บันทึกช่างภาพงานรับปริญญา

  จุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน และการที่ได้กล้อง SLR ตัวแรกของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนเกิดมามีฐานะ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะเริ่มต้นกับกล้องราคาแพง และอีกหลายคนเริ่มจากการขอยืม แต่จะมีใครใจบุญให้ยืมได้บ่อย ๆ ส่วนตัวผมเอาได้มาจากการขอยืม (ยึด) กล้อง Pentax K1000 มาจากท่านอาสุดที่รัก เพื่อเอามาเรียนกับชมรมถ่ายภาพที่โรงเรียนในสมัยมัธยมต้น ด้วยเหตุผลที่ว่าอยากถ่ายภาพเป็น จำได้ว่าในสมัยนั้นยังไม่มีเทคนิคมากมายเหมือนปัจจุบัน เอาแค่ถ่ายออกมาไม่เสีย รู้ว่ารูรับแสงกับความไวชัตเตอร์ไว้ทำอะไรก็คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว

    หลังจากถ่ายรูปเสียมาหลายม้วน ท่านอาเห็นว่าเราพอมีฝีมือในการถ่ายรูปในระดับพอรับได้ ก็ให้มาถ่ายรูปรับปริญญาใบที่สอง (ป.โท) ที่นิด้า และจุดนี้แหละที่ผมว่าช่างภาพทุกคนต้องเจอเหมือนกันหมด คือ ครั้งแรกของการถ่ายภาพรับปริญญา ที่สามารถสร้างบทเรียนในชีวิตการถ่ายภาพเป็นอย่างดี เจอปัญหาเรื่องการจัดองค์ประกอบการถ่ายภาพบุคคล ยิ่งรูปหมู่ ถูกชมว่า ท้องฟ้าสวย (พื้นที่ท้องฟ้ามากไป) วันนั้นได้แต่ใช้ซูมขา (เดินเข้า-ออก) ทำให้เสียโอกาสถ่ายภาพไปหลายครั้ง แต่ก็ยังมีรูปที่ถ่ายใช้ได้เยอะ เลยกลายมาเป็นช่างภาพประจำตระกูล ถ่ายให้ญาติ ๆ ให้อีกสองสามคน ก็เริ่มเลือกซื้ออุปกรณ์มาเพิ่มเติมกับเลนส์ซูมราคาประหยัด มาใช้ ตอนนั้นคิดว่าที่ซื้อมานี่สุดยอดแล้ว แต่เวลาผ่านไปเจอข้อด้อยหลายอย่าง เช่น โฟกัสมือมันช้าไปสำหรับงานที่ต้องการความรวดเร็วบ่อยครั้งที่ถ่ายไม่ทัน เลนส์ที่ใช้มีขอบภาพมืด และเมื่อถ่ายในที่ร่มสีจะดูไม่ได้ อีกทั้งแฟลชที่ต้องมานั้งคำนวณค่า GN เอง เมื่อเอามารวม ๆ กันจะทำให้รู้ว่าเราเสียโอกาสมากมายที่จะได้รูป จึงเป็นข้อจำกัดว่าทำไมฝีมือพัฒนาได้ช้าในช่วงนั้น

    พอเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย มีวิชาการถ่ายภาพเบื้องต้นที่ต้องเรียน ซึ่งเป็นวิชาที่อยากเรียนมากที่สุด ผมไม่อายที่จะเอากล้อง K1000 ที่มีอยู่เข้าเรียน อย่างน้อยเราก็เข้าใจในเรื่องวัดแสงระหว่างรูรับแสงและความไวชัตเตอร์แม่นกว่าพวกที่ใช้กล้องออโต้ดี ๆ แต่ด้วยความอยากรู้ว่าของดี ๆ ราคาแพง ๆ ดีกว่ายังไง พอดีพี่ชายกลับมาจากเมืองนอก หิ้ว Nikon F100 กับเลนส์รายโปรมา จึงขอยืม (ภายหลังเขาเห็นว่ายืมบ่อยเกิน เลยเบื่อจะทวงจึงยกให้) จึงเป็นจุดที่ทำให้ฝีมือพัฒนาขึ้น ผลงานดีขึ้น เพราะความสามารถของเทคโนโลยี ที่สามารถตอบสนองความคิดที่มากว่า สร้างสรรค์งานถ่ายภาพก็มีมากขึ้น

    การถ่ายภาพรับปริญญาเทคนิค ราคาว่าจ้าง ของแต่ละไม่เหมือนกัน ช่างภาพหลายคนที่มีฝีมือ กลับตกงาน ต่างกับช่างภาพที่พอถ่ายได้ แต่อัธยาศัยดี พูดจูงใจเก่ง หรือ หน้าตาน่าเชื่อมากกว่า จึงมีงานเข้ามาให้ถ่ายไม่ขาดสาย แต่จากที่ถ่ายภาพมา แต่ละสถานที่มีความทรงจำ ความประทับใจ และข้อมูลการเตรียมตัวในการถ่ายภาพ จะต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อย

     จากการที่ถ่ายภาพมานาน สังเกตุได้เลยว่ามีการพัฒนาการถ่ายภาพเป็นอย่างมาก และเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจ ส่วนใหญ่ที่เห็นช่างภาพที่พกรีเฟ็กสะท้อนแสง หลายคนมักจะเสยแสงขึ้นจากคาง ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เราไม่ได้มาถ่ายหนังผีที่จะต้องมีแสงส่องคาง ให้คิดถึงหลักแสงอาทิตย์ไว้ ว่ามันขึ้นและตกยังไง ไม่มีที่จะส่องมาจากพื้นดิน ต่อมาที่เจอบ่อย ขาตั้งไฟกับแฟลช หลายคนบ้าถ่ายแฟลช จนธาตุไฟเข้าแทรก จนละเลยแสงสวย ๆ จากธรรมชาติ ให้ถ่ายแสงธรรมชาติสะก่อนแล้วค่อยถ่ายด้วยแฟลช

     โดยส่วนตัวเวลารับงานถ่ายประเภทนี้ผมจะบอกทริกแก่บัณฑิตเสมอ ในวันซ้อม ให้ลองทารองพื้นดี ๆ ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง และทำผมได้เต็มที่ แต่ถ้าวันจริงต้องทำผมเรียบร้อย แต่ไม่ต้องตีโป่งลังแตน ทรงประกวดนางสาวไทยหรือเทพีนพมาส มันเชยอย่างมาก ถ้าเป็นไปได้ให้หัดแต่งหน้า แต่งบาง ๆ เขียนตา ทาปาก ก็สวยแล้ว วันจริงถ้าจะถ่ายภาพจี๊ดจ๊าดมากไม่ได้เพราะต่างคนก็ต้อนรับเพื่อนและญาติ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้แนะนำให้มาถ่ายรวมกันวันซ้อมดีสุด วันรับจริงยุ่งยากมาก

คุณเอื้อง

    เริ่มจากงานถ่ายภาพที่ประทับใจมากที่สุด ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับชุดครุยเทวดา เหตุผลที่ชอบคือ การเดินทางเรียกได้ว่าสะดวกที่สุด สามารถเลือกวิธีการเดินทางได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า หรือ รถเมล์ และอยู่ใกล้ห้างมากที่สุด เมื่ออยากไปหลบร้อนระหว่างบัณฑิตซ้อมหรือเข้ารับพระราชทานปริญญา อีกทั้งชุดครุย ที่ทำให้บัณฑิตไม่ร้อนจะล้าไม่อยากถ่ายภาพ เรื่องการจัดเวลาในการให้ถ่ายภาพดีมาก เขาให้ถ่ายในช่วงเช้าอย่างเต็มที่และเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาในช่วงบ่าย และสถานที่มีให้ถ่ายอย่างจุใจ เรียกได้ว่าถูกใจช่างภาพหลาย ๆ คนได้เป็นอย่างดี

แผนที่ ม.จุฬา

 

 

 

 

 

 

    งานที่ถ่ายภาพยากที่สุด คือ ที่ ม.รามคำแหง เป็นงานที่ทำให้ผมลำบากใจมากที่สุด วันซ้อมสามารถนำรถจอดได้ที่ห้างใกล้มหาวิทยาลัย แต่เดินไกลเอาเรื่องเหมือนกัน ที่นี่แม้ว่าเรามาแต่เช้า แต่ก็มีคนจำนวนมากที่มาก่อนเรา (เขามาค้างกันเลย) การจะถ่ายต้องมีการวางแผนและนัดพบกันดี ๆ เวลาในการถ่ายภาพก็มีไม่มาก บัณฑิต จะเข้าหอประชุมเร็ว และกว่าจะออกก็เย็น บัณทิตจะอ่อนล้าและหิวข้าวมาก ทำให้ถ่ายภาพสวย ๆ ได้น้อย ทางแก้คือ นัดถ่ายนอกเวลา จะมีโอกาสได้ภาพที่สวยถูกใจมากกว่า
สถานที่สะดวกและถ่ายรูปได้สวยผมมักไปที่สวนหลวง ร.9

    

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          รองลงมาที่ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ว่าถ่ายยากเพราะ จำนวนประชากรที่หนาแน่นเมื่อเทียบกับพื้นที่อันมีอยู่จำกัด และสถานที่มักชอบแย่งกันถ่ายภาพไม่ว่าจะเป็น ป้ายมหาวิทยาลัย แม่โดม หรือรูปปั้น จะมีคิวที่ยาวพอสมควร แต่ที่นี่มีการแบ่งการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นภาคเช้า-บ่าย จึงต้องมีการเตรียมตัวที่ดี ยังไงมาแต่เช้าย่อมดีกว่า (อย่างน้อยสามารถนำรถมาจอดที่สนามหลวงได้ แต่ขากลับรถค่อนข้างติดสาหัส) สิ่งที่ต้องเตรียมเอาไปเพิ่มคือถุงพลาสติกใบใหญ่ ๆ และร่ม เพราะช่วงนี้ฝนชอบตก

  เอแบค บางนา

     

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     ที่ ๆ ใช้เลนส์ไวด์มากที่สุด งานรับปริญญาของ ABAC วันซ้อมไปถ่ายที่ วิทยาเขตบางนา ซึ่งปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยได้แบ่งการซ้อมเป็นหลายวัน โดยจะเปิดโอกาสให้ถ่ายภาพแบบเต็ม ๆ ในวันที่ถ่ายภาพคณะบนแสตน การที่มาถ่ายภาพในสถานที่เรียกได้ว่าเข้าไปแล้วเหมือนหลุดมาอยู่เมืองนอก ที่เอาแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลกมารวมกัน ซึ่งสวยมาก มีละครมาถ่ายทำที่นี่หลายเรื่อง แต่ถ่ายภาพได้ยาก การที่จะถ่ายทั้งคนและตึกให้ได้อยู่ในเฟรมเดียวกันแล้วออกมาสวยเป็นเรื่องยากมาก เรื่องการเดินทางก็ลำบาก ยิ่งไม่มีรถส่วนตัวไปก็ยิ่งลำบาก วันจริงจะรับที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ บางปีคนจะแน่นมากเรียกได้ว่าเลนส์เทเลซูมไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้

 

      อันดับต่อมาให้เป็นที่ ม.กรุงเทพ วันซ้อมถ่ายที่วิทยาเขตกล้วยน้ำไท หากสามารถมาแต่เช้าได้จะมีที่จอดรถรอบนอกมหาวิทยาลัย และมีที่จอดรถแบบเสียค่าบริการ (20 บาท) แต่มาสายเกิน 7 โมง ที่จอดจะหายาก การถ่ายภาพหาก นัดถ่ายภาพแต่เช้าจะไม่ลำบากสามารถใช้อุปกรณ์ได้อย่างหลากหลาย แต่พอสาย ๆ จะเริ่มถ่ายยาก สิ่งที่ยากของที่นี่คือ มุมถ่ายภาพมีให้ถ่ายได้น้อย วันจริงรับที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ จะคล้าย ๆ กับข้อที่ผ่านมาแต่หากอยากได้ภาพดี ๆ ต้องนัดวันไปถ่ายที่ วิทยาเขต รังสิต ซึ่งมีมุมถ่ายภาพ

    การเดินทางไปที่นี้สะดวกสุดคือรถไฟฟ้า และรถแท็กซี่ หากนำรถมาเอง สามารถจอดได้ที่ลานบริการจอดรถใกล้หอประชุมแห่งชาติ หรือไม่ก็ไปจอดที่ห้างโลตัส

    ที่ ๆ จัดซุ้มสวย และฟรี ทั้งวันซ้อมและวันจริง บัณฑิตไม่ต้องสมทบทุนให้รุ่นน้อง ต้องที่ ม.ศรีปทุม (วิทยาเขตชลบุรี) เป็นผลงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์กับฝ่ายศิลป์ของมหาวิทยาลัยจัดทำให้ แต่ไม่มีซุ้มคณะ ที่จอดรถในมหาวิทยาลัยมีน้อย ทางมหาวิทยาลัยจะให้ไปจอดที่วิทยาลัยพละ มันก็ไกลเหลือเกิน เวลาในการถ่ายภาพมีน้อย มักจะเข้าพิธีประสาทปริญญาในช่วงเช้า ออกมาเที่ยง และคนก็แน่น อากาศร้อน ร่มไม้ก็มีน้อย

    ส่วนที่ ม.ศรีปทุม วิทยาเขตบางเขน วันซ้อมจะซ้อมรับที่ มหาวิทยาลัย วันจริงรับที่สวนอัมพร จะแบ่งเข้ารับเป็นภาคเช้า – บ่าย ช่วงบัณฑิตเข้าหอประชุมผมชอบแนะนำให้ญาติ ๆ บัณฑิตที่เข้ารอบเช้าไปพักที่ สวนสัตว์ และนัดจุดนัดพบ-เวลาออกดี ๆ จะได้ไม่พลัดหลงกัน จะถ่ายในสวนสัตว์หรือพระราชวังก็ได้แล้วแต่ไอเดียของแต่ละคน ลักษณะงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยนี้จะเป็นแบบ วันนี้ซ้อมพรุ่งนี้รับ การเดินทาง ผมชอบนั่ง TAXI มากกว่าสะดวกดี

 

 

   บัณฑิตชุดขาว ครุยดำ สวมหมวก ของ ม.แม่โจ้ เป็นมหาวิทยาลัยที่ทำให้ขนลุกมากที่สุด ไม่ใช่เพราะความกลัว แต่เป็นตอนที่เหล่าขบวนบัณฑิตกำลังเดินเข้าหอประชุม สองข้างทางจะมีรุ่นน้องคอยบูมคณะ คอยปรบมือ แต่ที่ชวนขนลุกคือ ตอนที่ทุกคนร้องเพลงมหาวิทยาลัย เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ เรื่องการเดินทางผมไม่ค่อยถนัด

    

 

 

 

 

 

 

 

 

          บัณฑิตสวมหมวกอีกที่คือ ม.เกษตร ส่วนมงกุฎดอกไม้ไม่เกี่ยว(บางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้สวมมงกุฎดอกไม้) การที่ถ่ายภาพที่เกษตรอย่างแรกที่ต้องทำใจคือ เหนื่อยแน่ ๆ และต้องศึกษาแผนที่และนัดแนะกันให้ดี ถ้าให้ทันเวลาใช้บริการพี่วินมอเตอร์ไซด์ ส่วนผู้ที่นำรถไปจอดในบริเวณ มหาวิทยาลัย โดยไม่มีบัตรให้ไปตั้งแต่เช้า จึงจะได้ที่จอดรถ เป็นมหาวิทยาลัยที่เดินถ่ายภาพแล้วเหนื่อยจริง ๆ

แผนที่ ม.เกษตร

            ม.บูรพา (ชลบุรี) นโยบายใหม่ไม่สามารถนำรถมาจอดภายในมหาวิทยาลัยได้ ให้จอดรอบนอก ที่มีจุดรับฝากรถ (50 บาท) และเดินไกล ผู้ที่มาต้องใช้บริการ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง จะสะดวกที่สุด ช่วงเช้า ๆ ห้ามจอดรถที่ห้าง เซพแลนด์ เพราะทางห้างจะนำรถมายก ออกไปที่ไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน ส่วนเรื่องการถ่ายภาพ เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเนื้อที่เยอะ โอกาสได้ภาพสวยมีมาก ไม่ว่าจะเป็นบริเวณส่วนออกกำลังกาย และตึกต่าง ๆ ที่มีทั้งเก่า และใหม่ จากมีมุมให้ถ่ายภาพค่อนข้างมาก มีโอกาสใช้เลนส์ได้ทุกตัวไม่ว่าจะเป็นมุมกว้าง หรือ เทเล ก็ได้ ช่วงเวลาในการถ่ายภาพค่อนข้างดี มีโอกาสถ่ายภาพตั้งแต่เช้าถึง ประมาณ 10 โมง

แผนที่ ม.บูรพา

    ม.หัวเฉียว ที่ลำบากเห็นจะเป็นที่จอดรถ ที่ต้องจอดข้างถนน จุดเด่นของที่นี่คือความเป็นจีน จะมีสวนหย่อมแบบจีนให้ถ่าย

สิ่งที่เหมือนกันหมดทุกมหาวิทยาลัย

1. ญาติ ๆ เหล่าบัณฑิตนิยมให้ดอกไม้ จนลำบากต้องมีคนมาช่วยถือ ผมแนะนำทางออกที่เหล่าบัณฑิตต้องชอบทุกคนคือ ดอกไม้ไม่ต้อง ขอซองอย่างเดียว พกพาง่าย ไว้ที่บัณฑิตเลย ไม่ลำบากต้องให้ใครช่วยถือ และบัณฑิตเอาไปเป็นเงินก้นถุงได้ ซื้อดอกไม้แค่ช่อสวย ๆ สักช่อก็พอ

2. บัณฑิตผู้หญิงชอบถ่ายภาพมากกว่า บัณฑิตผู้ชาย และบัณฑิตผู้ชายถ่ายภาพยากกว่าบัณฑิตผู้หญิง เพราะถ้าเอาแต่ถ่ายบัณฑิตชายจะเป็นเพศที่ 3 ยกเว้นบัณฑิตเขาต้องการอย่างนั้น

3.เรื่องการใส่ชุดครุย มีบัณฑิตหลายคนที่ใส่ชุดครุยไม่เป็น ช่างภาพต้องเรียนรู้เรื่องครุยของแต่ละมหาวิทยาลัยว่าต้องใส่อย่างไรให้ถูกและดูดี ติดเข็มกลัดไว้สักสองสามตัว ไว้กลัดชุดครุยไม่ให้ปลิว จะช่วยให้ถ่ายภาพง่ายขึ้น

4.กระดาษซับมัน มีติดตัวไว้บ้างไม่ใช่เรื่องเสียหาย

5. เวลาถ่ายภาพคณะ ไม่ควรใช้แฟลช เพราะจะไปทำให้ภาพถ่ายของกล้องใหญ่จะด่างไม่เท่ากันต้องคอยจังหวะดี ๆ

6. ต้องเจอกับญาติของบัณฑิตที่เป็นตากล้องมือโปร(โตซัว) คอยแนะนำเทคนิค หรือคอยว่ามุมในการถ่ายภาพ อย่างเช่น ถ่ายรูปย้อนแสงทำไม รูปเสียหมด หรือไม่ก็ ใช้แฟลชสะท้อนเพดานสิ ภาพสวยกว่าเยอะ (เพดานสูงเกือบ 10 เมตร )

7. มีเลนส์โปรไว้ข่มชาวบ้าน เลนส์ตัวใหญ่ ยิ่งสีขาว ยิ่งดี และต้องห้อยกล้องโปรสองบอดี้ (เอาไปเท่าที่ต้องใช้ก็พอ และมีกล้องสำรองไว้หากกล้องหลักพัง)

8. ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ชอบฟิล์มมากกว่าดิจิตอล และต้องเตรียมฟิล์มสำรองอย่างน้อย 2 ม้วน และถ่านสำรองอีก 1 ชุด แต่ตอนนี้น่าจะหมดยุคแล้วแต่เขียนไว้ก่อน

9. ไปถึงที่นัดก่อนบัณฑิตดีกว่าบัณฑิตถึงก่อนเรา และกลับหลังบัณฑิต ทำเป็นนิสัยรับรองงานไม่ขาดมือ

By ชัยยงค์ โกกนุทาภรณ์


 
 

Design by TaewTong | taewtong2002@yahoo.com

 

Copyrights © 2007 www.doartdee.com | All rights reserved.